![](https://het.rmutt.ac.th/wp-content/uploads/2021/06/22BD662F-C250-4737-A2D0-0E66F3D95EF9.jpeg)
การย้อมสีธรรมชาติจากต้นกล้วยน้ำว้า
มิถุนายน 7, 2021![](https://het.rmutt.ac.th/wp-content/uploads/2021/06/712C0680-DD80-4B02-A7D7-4CFCC8B94BF8.jpeg)
มอบน้ำพริกให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
มิถุนายน 17, 2021![](https://het.rmutt.ac.th/wp-content/uploads/2021/06/07-1-724x1024.jpg)
บาติกกับวิถีวัฒนธรรมผ้าในประเทศไทยในยุคสมัยปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เป็นงานศิลปะบนผืนผ้าที่มีเอกลักษณ์ มีมนต์เสน่ห์ความงาม…
ผ้าบาติกในมิติการสร้างสรรค์ ลวดลายความเป็นเอกลักษณ์ ดร.ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล อาจารย์สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ พาสัมผัสศิลปะบนผืนผ้า เล่าถึงลวดลาย การดีไซน์และการนำไปใช้ ทั้งให้มุมมองการเรียนรู้ในเรื่องผ้า การปลูกความรักงานผ้าจากบาติกว่า ถ้าพูดถึงผ้าบาติก มีความต่างจากผืนผ้าชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านกระบวนการผลิต เทคนิค ทั้งมีมุมมองด้านวัฒนธรรม ลวดลายที่เข้ามาเกี่ยวเนื่อง
อาจารย์สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ดร.ศุภนิชา ขยายความเพิ่มอีกว่า เป็นที่ทราบกันสำหรับการทำผ้าบาติกซึ่งเราได้รับอิทธิพลมรดกทางวัฒนธรรมการผลิตและการใช้มาจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งส่งต่อวัฒนธรรมผ้าบาติก มาถึงภาคใต้ของประเทศไทยโดยเห็นได้จากบริบทวิถีชีวิตในการแต่งกาย
“การสร้างสรรค์ลวดลายที่เกิดขึ้นในผ้าบาติกในอดีตส่งต่อในด้านคุณค่าทางวัฒนธรรม มีการสอดแทรกกับเรื่องราววิถีชีวิต บริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ออกมาโดยใช้รูปทรงต่าง ๆ สร้างความหมายให้เกิดลวดลายที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในผืนผ้า และจากเดิมบาติกในประเทศไทยเมื่อก่อนจะพบทางภาคใต้ หลายจังหวัด แต่ปัจจุบันขยายกว้างขวางออกไป”
ขณะเดียวกันเทคนิคการสร้างลวดลายมีความหลากหลาย เป็นไปตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ อย่างเช่น ผ้าบาติก จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต ลวดลายส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของ ท้องทะเล มีปลา ลวดลายธรรมชาติ สีสันสดใส ฯลฯ สอดคล้องกับภูมิประเทศ วัฒนธรรม จากที่กล่าวนอกจากบาติกในภาคใต้ ศิลปะผ้าบาติกที่ขยายไปในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างภาคอีสานที่จังหวัดนครราชสีมา สร้างสรรค์ผืนผ้าบาติกที่มีเอกลักษณ์ มีนวัตกรรมน้ำกาว การผสมสูตรน้ำกาวที่มีความเฉพาะตัวนำเข้ามาใช้ในงานผ้าบาติก หรือแม้แต่การสร้างสรรค์ผ้าบาติกของภาคกลางก็มีความสวยงาม ความโดดเด่น
“ถ้าพูดถึงบาติกต้องมีการเพนท์สี การวาดด้วยมือเข้ามาเกี่ยวเนื่อง นอกจากวิธีการวาด การเพนท์สร้างลวดลายแล้วยังมีการใช้การปั๊มลายจากบล็อกแม่พิมพ์ ซึ่งก็มีบล็อกพิมพ์ทำจากเหล็ก จากไม้ ก็แล้วแต่บริบทของชุมชนและลวดลายนั้น ๆ ผ้าบาติกจึงเป็นงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์ และมีมนต์เสน่ห์ ลวดลายแสดงถึงจินตนาการ ความมุ่งมั่น เป็นอีกหนึ่งผืนผ้าที่มีความสวยงาม ความพิเศษเฉพาะตัว”
นักออกแบบสิ่งทอ ดร.ศุภนิชา กล่าวอีกว่า กระบวนการผลิตที่เป็นแบบดั้งเดิม จะใช้วิธีการสร้างลวดลายด้วยการเขียนเทียนลงบนผืนผ้า โดยใช้จันติ้ง (Canting) การต้มย้อมสีธรรมชาติด้วยวัสดุพื้นถิ่นในการสร้างสีบนผืนผ้า ส่วนวิถีการทำผ้าบาติกในปัจจุบันมี การออกแบบลวดลายผ้าบาติกด้วยเทคนิคต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่การใช้น้ำเทียนเขียนลวดลายโดยจันติ้งเพียงอย่างเดียว
จากที่กล่าวมามีนวัตกรรมการเขียนผ้าบาติกที่เรียกว่า น้ำกาว โดยกรรมวิธีนี้ได้สร้างสรรค์ผลงานผ้าบาติกในอีกมุมมอง มีความสวยงาม มีเอกลักษณ์จากลายเส้นอย่างเช่น ฅญาบาติก บาติกในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ใช้ผ้าไหมมาถ่ายทอดลวดลายบาติกด้วยน้ำกาวแทนน้ำเทียน และสร้างลวดลายใบบัวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะลงบนผืนผ้า ด้วยต้องการให้คนรุ่นหลังรู้จักผ้าบาติกในความหลากหลายจนมีการถ่ายทอดมุมมองการทำผ้าบาติก เกิดเป็นลวดลายบาติกที่มีความร่วมสมัย เป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรมที่ผ่านการสร้างสรรค์ลวดลายด้วยจินตนาการของผู้ผลิต หรือนักออกแบบสิ่งทอ
นอกจากนี้ในการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา อาจารย์ได้วิจัย ใช้น้ำยางพาราในการถ่ายทอดลวดลายของผ้าบาติก ด้วยการผสมระหว่างน้ำยางพารา กาวและแบะแซให้เข้ากัน นำน้ำยางพาราที่ได้ไปวาดลวดลายตามความต้องการ ซึ่งน้ำยางพาราที่ใช้ในการวาดมีความสามารถในการกั้นสีเพื่อให้เกิดลวดลายในผ้าบาติกได้เช่นเดียวกัน หรือขอยกตัวอย่างกลุ่มผ้าบาติกเดอนารา เพิ่มมูลค่าผ้าบาติกด้วยฝีมือการถ่ายทอดลวดลายที่มีเรื่องราวจากอัตลักษณ์พื้นถิ่น สร้างเป็นคอลเลกชั่นต่าง ๆ อย่างเช่น นำแรงบันดาลใจจากเรือกอและที่เป็นเรือประมงพื้นบ้าน มาสร้างเป็นลวดลายของผืนผ้า
สร้างลวดลายจากพืชพรรณธรรมชาติในท้องถิ่น นำดอกดาหลาที่เป็นดอกไม้พื้นถิ่นมาสร้างลวดลายผ้าบาติก นำธรรมชาติมา สร้างเป็นแรงบันดาลใจเพื่อถ่ายทอดลงสู่ผืนผ้า เป็นต้น
“การสร้างลวดลายร่วมสมัยผ้าบาติกทางภาคใต้ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่ชัดเจน เป็นที่รู้จักกันมายาวนาน แต่เดิมเราอาจนึกถึงผ้าปาเต๊ะที่ผู้ใหญ่ใช้สวมใส่เมื่ออยู่บ้าน หรือผ้าบาติกสีสันสดในลวดลายสัตว์ในท้องทะเล แต่ปัจจุบันความนิยมในการสวมใส่ผ้าบาติกเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ตามวิถีการสวมใส่เสื้อผ้า จึงมีการปรับด้านองค์ประกอบการใช้สี การวางลวดลาย และการสร้างแรงบันดาลใจในการทำผ้าบาติก”
ช่วงหลังจะเห็นว่าผ้าบาติก มีลวดลายหลากหลายมากขึ้น ตามบริบทของวัฒนธรรม ของแต่ละพื้นถิ่น เป็นการประยุกต์ลวดลาย เห็นถึงสุนทรีย์ความงาม อย่างเช่น การนำลวดลายพืชพันธุ์ธรรมชาติในท้องถิ่น นำมาออกแบบและถ่ายทอดลงบนผืนผ้า ปรับประยุกต์ลวดลายโดยมีความร่วมสมัย เข้าถึงผู้สวมใส่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน สีสันมีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่เคยเห็นสีน้ำตาล สีในแนวเอิร์ธโทน น้ำตาล แดง อาจมีสีเทาบ้าง สีดำบ้าง โทนที่ไม่ฉูดฉาดก็ปรับเปลี่ยนไป
ทั้งมีหน่วยงานภาครัฐ มีผู้เชี่ยวชาญ นักออกแบบสิ่งทอ ผู้ที่มีความรู้ เข้ามาถ่ายทอดความรู้ในเรื่อง การพัฒนาสี การจับคู่สี การจัดวางองค์ประกอบของสี ทำให้ได้เห็นผ้าบาติกที่สามารถวางคู่สีได้สอดคล้องกัน ดูไม่ฉูดฉาดจนเกินไป เป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ เหมาะกับยุคสมัยตามเทรนด์
อาจารย์สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มดร.ศุภนิชา ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า ผ้าบาติกยังเป็นที่นิยมนำมาออกแบบสร้างสรรค์ได้หลากหลายรูปแบบ นอกจากดีไซน์ตัดเย็บเป็นชุดในรูปแบบแฟชั่นต่าง ๆ ยังนำมาสร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับ นำมาตกแต่งบ้าน ฯลฯ และด้วยกระบวนการผลิตผ้าบาติก การขึงเฟรมครั้งหนึ่งสามารถทำได้ 5 เมตร 10 เมตร หรือแล้วแต่ความกว้างใหญ่ของเฟรม ตามศักยภาพที่จะทำได้
จากจุดเด่นสามารถผลิตสร้างสรรค์ผืนผ้า สร้างลวดลายที่เหมาะกับด้านเคหะสิ่งทอหรือเสื้อผ้าที่สวมใส่ สามารถออกแบบ วางลาย กำหนดส่วนที่ต้องการให้โดดเด่นไม่ว่าจะเป็นส่วนคอ แขน ฯลฯ นำแพตเทิร์น นำวางทาบเพื่อให้ออกมาเป็น ลวดลายตามที่ออกแบบไว้ตรงจุดหมาย โดยถ้าได้คุยร่วมกันระหว่างนักตัดเย็บ นักออกแบบ และผู้ผลิตผ้าก็จะช่วยให้ผลงานจากผืนผ้าบาติกโดดเด่นยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การได้เรียนรู้ ศึกษาเรื่องราวผืนผ้าบาติก เพลิดเพลินไปกับงานฝีมือ ด้วยวิธีการสร้างสรรค์ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการทำงานผ้าบาติก จะเห็นว่ามีเฟรมขนาดเล็กให้เด็ก ๆ ได้ทดลองระบายสี ได้เรียนรู้ฝึกวาดสร้างสรรค์ศิลปะบาติก การได้เข้าถึงเหล่านี้ ดร.ศุภนิชา ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า นอกจากเสริมสร้างสมาธิ สร้างการเรียนรู้ ได้เห็นเทคนิควิธีการต่าง ๆ ก่อนมาเป็นผืนผ้าบาติก การได้ทำ ได้ทดลองยังเกิดเป็นกิจกรรมยามว่าง ส่งต่อความรักในผืนผ้า การสร้างสรรค์ผืนผ้าในมิติต่าง ๆ ต่อยอดต่อไป
นอกจากผ้าทอผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าย้อมคราม ฯลฯ ผ้าบาติก เป็นงานศิลปะอีกอย่างหนึ่งที่เกิดจากทักษะและฝีมือของผู้สร้างสรรค์ สร้างลวดลายความงาม เวลาสวมใส่เสื้อผ้าบาติกเสมือนได้แสดงงานศิลปะ บอกเล่าบริบทอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของชุมชน ซึ่งอยากให้เห็นถึงคุณค่า ควบคู่กับการสร้างสรรค์เพิ่มองค์ความรู้ใหม่ ๆ
ภาคภูมิใจในงานฝีมือ งานศิลปะที่มีมนต์เสน่ห์.
“ทดลองเรียนรู้ฝึกวาดสร้างสรรค์”
เรื่องล่าสุด
- ประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตัวชี้วัดการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
- ร่วมมือกับ De La Salle University-Dasmariñas (DLSU-D)
- เสริมสร้างความร่วมมือกับ Adamson University ประเทศฟิลิปปินส์
- มอบทุนการศึกษา (ให้เปล่า)
- 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย หลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพ (Master Thai Chef Program)